ภาพกิจกรรมการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ AIRPORT EMS
ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสนามบิน (AIRPORT EMS)

สิ่งที่ได้จาก…ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสนามบิน
AIRPORT EMS ไม่เพียงแต่ช่วยให้สนามบินสามารถจัดการดูแลประเด็นสิ่งแวดล้อม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังเอื้อประโยชน์ต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยรวมดังนี้
- คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม จากการมีมาตรการป้องกัน ควบคุม และลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง ขยะ/ของเสีย เป็นต้น
- เกิดการคิดค้นนวัตกรรม และวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการปัญหาและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด การนำน้ำเสียที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด เป็นต้น
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน เช่น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงยานพาหนะที่ใช้ในกิจกรรมสนามบิน การลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
- พัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และประชาชนมีส่วนร่วมผ่านระบบการร้องเรียน
- ยกระดับจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของพนักงาน และผู้ใช้บริการสนามบิน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในโปรแกรมและกิจกรรมสิ่งแวดล้อม การสื่อสารข้อมูลและสร้างการพูดคุยด้านสิ่งแวดล้อมทั้งภายในองค์กรและสาธารณะ

AIRPORT EMS สร้างการเรียนรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบแก่บุคลากรของสนามบิน
AIRPORT EMS นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สนามบินสามารถจัดการดูแลประเด็นสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยสร้างการเรียนรู้และทักษะในการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบแก่บุคลากรของสนามบิน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาบุคลากรในองค์กรในประเด็นเหล่านี้
- เรียนรู้วิธีการระบุปัญหาสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมสนามบินและจัดลำดับความสำคัญ โดยพิจารณาจากระดับความเสี่ยงของผลกระทบ
- เข้าใจหลักการและวิธีกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และดัชนีชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละสนามบิน
- เรียนรู้การทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย เพื่อหาวิธีการ มาตรการป้องกัน ควบคุม และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ติดตั้งระบบบำบัดมลพิษ บังคับใช้ระเบียบข้อปฏิบัติงาน โปรแกรมประหยัดพลังงาน เป็นต้น
- เรียนรู้วิธีติดตาม และตรวจประเมินผลการดำเนินงานจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อทราบข้อบกพร่องที่จะนำไปสู่การหาทางแก้ไข/ปรับปรุงให้ดีขึ้น และเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับกิจการสนามบิน
- มีทักษะการทำงานร่วมกับทีมผู้บริหาร ในการพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- เรียนรู้วิธีการสื่อสารภายในและภายนอกองค์กรที่เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักและความรับผิดชอบในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

AIRPORT EMS ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกระดับในองค์กรและทุกภาคส่วน
การจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสนามบิน (AIRPORT EMS) จะมีส่วนช่วยให้สนามบินสามารถป้องกัน ควบคุมและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมของสนามบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอันประกอบด้วย
ผู้บริหารสนามบิน : แสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานตามแนวทางของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสนามบิน (AIRPORT EMS) กำหนดทิศทาง นโยบาย เป้าหมาย และให้การสนับสนุนการดำเนินงาน ติดตาม ทบทวนระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
พนักงานสนามบิน : ปฏิบัติตามบทบาท หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายภายใต้การดำเนินงาน AIRPORT EMS รวมถึงปฏิบัติงานตามระเบียบการป้องกัน ควบคุม และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และให้ความร่วมมือในโปรแกรมและกิจกรรมสิ่งแวดล้อม
คู่ค้า/ผู้รับเหมา : ปฏิบัติตามข้อกำหนดการควบคุม ป้องกันด้านสิ่งแวดล้อม ที่ระบุไว้ในข้อตกลง/สัญญา และให้ความร่วมมือในโปรแกรมและกิจกรรมสิ่งแวดล้อมของสนามบิน
ผู้โดยสาร : ให้ความร่วมมือในโปรแกรม และกิจกรรมสิ่งแวดล้อมของสนามบิน เช่น การแยกขยะ การประหยัดน้ำ/พลังงาน เป็นต้น

AIRPORT EMS ครอบคลุมการจัดทำแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แหล่งกำเนิดทั้งทางตรงและทางอ้อม
การจัดทำระบบ AIRPORT EMS ครอบคลุมการจัดทำแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แหล่งกำเนิด เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2608 ซึ่งกิจการสนามบินได้จำแนกแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น 3 ประเภท เพื่อให้สามารถจัดทำแผนการลดและกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประเภทที่ 1 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง : จากกิจกรรมของสนามบินหรือภายใต้การควบคุม กำกับดูแลของสนามบิน ได้แก่ รถยนต์ส่วนกลางของสนามบิน ยานพาหนะและอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น (GSE) ที่เป็นของสนามบิน ระบบการจัดการขยะ/ของเสียในสนามบิน ระบบบำบัดน้ำเสียในสนามบิน ระบบ/อุปกรณ์ดับเพลิงในสนามบิน
ประเภทที่ 2 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม : จากการซื้อพลังงานมาใช้ในกิจกรรมสนามบิน ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า การทำความเย็น
ประเภทที่ 3 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ : ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุม กำกับดูแลของสนามบิน ได้แก่ เครื่องบินขณะขึ้น/ลงจอด/เคลื่อนตัว ยานพาหนะและอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น (GSE) ที่ไม่ใช่ของสนามบิน รถแท็กซี่ รถโดยสารที่ให้บริการผู้โดยสาร รถยนต์ที่มารับ-ส่งผู้โดยสาร รถยนต์ที่ใช้ในการขนส่งของการจัดการขยะ/ของเสีย รถยนต์พนักงาน รถรับ-ส่งพนักงาน

AIRPORT EMS เป็นระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เน้นการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตามแนวคิด PDCA (Plan-Do-Check-Act)
AIRPORT EMS ได้รับการพัฒนาจากแนวคิด PDCA หรือ Plan-Do-Check-Act ซึ่งเป็นแนวคิดการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ไขปัญหา และทำให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) ด้วยเหตุนี้ AIRPORT EMS จึงกำหนดกรอบ/แนวทางต่าง ๆ ภายใต้การวางแผน (Plan) การปฏิบัติ (Do) การตรวจสอบ (Check) และการปรับปรุง (Act) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมสนามบินให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสรุปได้ดังนี้
- Plan : การวางแผนจัดการสิ่งแวดล้อมตามแนวทางที่ผู้บริหารกำหนดและสอดคล้องกับบริบทปัจจุบันของสนามบิน ประกอบด้วย การกำหนดหรือทบทวนนโยบาย/เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม การทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การกำหนด/ทบทวน/ปรับเปลี่ยนบทบาท หน้าที่ให้มีความเหมาะสม การระบุ/ทบทวนประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และการกำหนด/ปรับปรุงแก้ไขโปรแกรมป้องกัน ควบคุม และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
- Do : การควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายและโปรแกรมด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดทำระบบเอกสารสารสนเทศและบันทึก การจัดการข้อร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
- Check : การตรวจสอบด้วยการตรวจประเมินภายในเพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามข้อกำหนดของระบบ AIRPORT EMS การประเมินความสอดคล้องในการปฏิบัติตามกฎหมาย/ข้อกำหนดต่าง ๆ และประเมินผลการดำเนินงานจัดการสิ่งแวดล้อม
- Act : การปรับปรุง/แก้ไขสิ่งที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการทบทวนระบบฯ และกำหนดแนวทางพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยผู้บริหาร

AIRPORT EMS เครื่องมือสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 เพื่อลดภาวะโลกร้อน
กิจการสนามบินเป็นอีกภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนใหญ่เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เกิดจากปฏิบัติการบินและปฏิบัติการภาคพื้นในสนามบิน การจัดทำระบบ AIRPORT EMS จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนให้สนามบินสามารถดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ภายในปี 2608 เนื่องจากเป็นระบบการจัดการที่ประกอบด้วย
- การวางนโยบาย เป้าหมายที่ชัดเจน : สามารถกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และดัชนีชี้วัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) เป็นต้น)
- การจัดตั้งคณะทำงานที่เฉพาะเจาะจง : คณะทำงานเฉพาะที่รับผิดชอบในการดำเนินงานการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทสำคัญในการประสานงาน สื่อสาร จัดโปรแกรมที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- การระบุแหล่งกำเนิดก๊าซ : สามารถระบุแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่จะนำไปสู่การจัดทำแผนลดการปล่อยก๊าซ หรือกิจกรรมชดเชยการปล่อยก๊าซ
- การสร้างระบบฐานข้อมูล : มีระบบการบันทึก จัดเก็บข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซ การใช้พลังงาน และดัชนีชี้วัดสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ช่วยให้การติดตามผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- ครอบคลุมคู่ค้า/ผู้รับเหมา : ครอบคลุมการพิจารณาการปล่อยก๊าซในห่วงโซ่การผลิต ได้แก่ สินค้าและบริการของคู่ค้า/ผู้รับเหมา ทำให้สามารถควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซได้ โดยการกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ หรือเงื่อนไขในข้อตกลง/สัญญาจ้าง เช่น ให้มีการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น
- เน้นการมีส่วนร่วม : การมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานสนามบิน คู่ค้า/ผู้รับเหมา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างความร่วมมือในการหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

AIRPORT EMS ครอบคลุมการจัดการมลพิษ/ของเสีย จากกิจกรรมสนามบิน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
AIRPORT EMS เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สนามบินสามารถจัดการดูแลประเด็นสิ่งแวดล้อมได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทั้งในด้านการป้องกันและควบคุมมลพิษ/ของเสีย รวมถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ได้แก่
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศจากการใช้เชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน และยานพาหนะที่ใช้ในการปฏิบัติการภาคพื้น
- จัดการเสียงให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ชุมชนใกล้เคียง
- อนุรักษ์พลังงานด้วยการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในอาคาร และงานระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ไฟส่องสว่าง ระบบปรับอากาศ เป็นต้น
- อนุรักษ์น้ำด้วยการมีมาตรการลดปริมาณการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น บริการร้านอาหาร ห้องน้ำ การล้างทำความสะอาดอากาศยาน เป็นต้น
- ลดและกำจัดขยะ/น้ำเสียที่เกิดจากกิจกรรมในอาคารผู้โดยสาร บริการบนเครื่องบิน
- ป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมีที่เกิดจากงานซ่อมบำรุง งานทำความสะอาด งานตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือจากการหกรั่วไหล

ประโยชน์ที่ได้รับจากระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสนามบิน (AIRPORT EMS)
การจัดทำ AIRPORT EMS ช่วยให้สนามบินสามารถป้องกัน ควบคุม และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมของสนามบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเอื้อประโยชน์ทั้งต่อตัวบุคคล สนามบิน ชุมชนใกล้เคียง/ผู้มีส่วนได้เสีย รวมไปถึงประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค/โลก อาทิเช่น
ตัวบุคคล (Individual) : กระตุ้นให้ผู้โดยสาร/ผู้มาใช้บริการสนามบินมีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม
สนามบิน (Airports) : เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย/ข้อบังคับต่าง ๆ ช่วยให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สร้างภาพลักษณ์ที่ดี
ชุมชน/ผู้มีส่วนได้เสีย (Community/Stakeholder) : ปกป้องแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน ป้องกันมลพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ภูมิภาค/โลก (Region/Global) : สอดรับกับแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมสนามบินในระดับภูมิภาคและระดับโลก สนับสนุนการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสนามบิน และสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

AIRPORT EMS เครื่องมือบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับสนามบินในประเทศไทย
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (The Civil Aviation Authority of Thailand : CAAT) ร่วมกับประเทศในเขตอาเซียน (ASEAN) ได้พัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสนามบินที่มีความเฉพาะเจาะจงกับกิจกรรมสนามบินเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพโดยครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนการป้องกันและควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อม การติดตามผลการดำเนินงาน ปรับปรุง/แก้ไขให้ดีขึ้น และการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ AIRPORT EMS ยังได้รับการรับรองมาตรฐานโดย TISI สำหรับนำไปประยุกต์ใช้กับสนามบินต่างๆ ในประเทศไทย